“…ปกติผมกลับบ้านมืดๆ ค่ำๆ 3-4 ทุ่มโน่นแหละครับ” จะไม่แปลกใจเลยหากเจ้าของคำพูดนี้คืออาจารย์ เจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ในความเป็นจริง คนที่หล่นประโยคนี้ออกมาคือ บาส-อิศราพงษ์ หน่อคำ นักศึกษาปี 3 สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ปี 2561 เขาอธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า
สาเหตุที่กลับบ้านดึกดื่นเพราะมักขลุกตัวอยู่ที่มหาวิทยาลัยฯ โดยใช้จ่ายเวลาไปกับการทำกิจกรรมนักศึกษา เตรียมงาน ประชุม ติวหนังสือกับเพื่อน หรือทำการบ้าน พอเสร็จสิ้นภารกิจประจำวันจึงเดินทางกลับบ้านใน อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ระยะทางห่างจากมหาวิทยาลัยฯ กว่า 15 กิโลเมตร
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความเอาจริงเอาจังในการทำงานของอิศราพงษ์ได้มากทีเดียว
ที่ผ่านมา อิศราพงษ์เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานด้านกิจกรรมนักศึกษามามากมาย ประกอบด้วย การเป็นประธานชมรมรักษ์โลก ของมหาวิทยาลัยฯ (ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อ ชุมนุมรักษ์โลก สังกัดคณะครุศาสตร์) ตลอดระยะเวลา 2 ปีเขาได้เรียนรู้งานด้านสิ่งแวดล้อม งานจิตอาสา และการทำงานร่วมกับชุมชน คนทุกระดับชั้น
การเป็นหัวหน้าแปลงเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค ของสำนักนวัตกรรมและบริการสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ทำให้เขาได้เก็บเกี่ยวความรู้ด้านพืชผักปลอดสารพิษ
การใช้ทักษะด้านการวาดเขียนเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง จากการรับจ้างแกะโฟมตัวอักษรและเขียนข้อความบนเต็นท์ผ้าใบ ถือเป็นการฝึกฝนทักษะด้านศิลปะให้เชี่ยวชาญมากขึ้น รวมถึงการเรียนรู้จิตอาสา จากการแบ่งเวลาไปช่วยเหลืองานของหมู่บ้าน เช่น มัดผ้าตกแต่งสถานที่ และแกะโฟมตัวอักษร ตลอดจนเป็นวิทยากรในค่ายอบรม
ในวันที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่นายกองค์การฯ อิศราพงษ์คาดหวังใช้ประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นต้นทุนเพื่อขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นกระบอกเสียง เป็นตัวกลางสื่อสารความต้องการต่างๆ ของนักศึกษารั้วเทา-แสดไปสู่ผู้เกี่ยวข้อง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งดีๆ กับนักศึกษาทุกคน
เหล่านี้คือชีวิตหลากด้าน หลายมิติของอิศราพงษ์ ที่สำคัญ ในทุกงานที่ดูแลรับผิดชอบ นายกองค์การฯ ป้ายแดงคนนี้มักทุ่มเทชีวิตให้แบบเกินร้อย กับหมวกใบใหม่ที่เขาสวมใส่อยู่ก็เช่นกัน
ช่วงเวลา 4-5 ปีในการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มีหลายสิ่งให้เรียนรู้ การได้ทำหน้าที่ผู้นำองค์การบริหารนักศึกษาเป็นประสบการณ์ดีๆ ที่น้อยคนได้สัมผัส นั่นเป็นแรงดึงดูดให้อิศราพงษ์อยากเข้ามาทำหน้าที่นายกองค์การบริหารนักศึกษา เป็นการมาทำงานนี้ด้วยใจ
มีแค่หัวใจที่พร้อมทุ่มเททำงานหนักเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเพื่อนๆ นักศึกษา อาจไม่เพียงพอ เพราะภารกิจของนายกองค์การฯ มีความยุ่งยาก ความท้าทาย จะมาเล่นๆ ไม่ได้ อิศราพงษ์ยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า
“ไม่กลัวงานหนัก พร้อมลุยทุกสถานการณ์ มาอยู่ตรงจุดนี้แล้วต้องทำกิจกรรมทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วง”
อิศราพงษ์เป็นนักกิจกรรม ตอนเรียนปี 1 ชิมลางจากการเข้าร่วมกิจกรรมของสาขาวิชาฯ พอปี 2 ก้าวขึ้นไปเป็นประธานชุมนุมรักษ์โลก คณะครุศาสตร์ ต่อเนื่องจนถึงปี 3 ซึ่งชุมนุมเปลี่ยนสถานะเป็นชมรมรักษ์โลก ของมหาวิทยาลัยฯ ควบคู่กับการเป็นหัวหน้าแปลงเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค ของสำนักนวัตกรรมและบริการสังคม มร.ชร.
บทบาทหน้าที่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบมากขึ้นในฐานะนายกองค์การฯ ทำให้หนุ่มคนนี้ต้องเตรียมตัวในเรื่องการบริหารจัดการเวลา ทั้งเวลาเรียน เวลาทำกิจกรรม และเวลาส่วนตัว ให้สมดุลกัน
ต่อมาคือเรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพราะการทำงานกับคนหมู่มากต้อง เอาใจเขา มาใส่ใจเรา รับฟังความเห็นผู้อื่น ไม่เอาความเห็นตัวเองเป็นใหญ่
“แสดงความคิดเห็นไปแล้วมีคนเห็นต่าง ก็เปิดใจรับฟัง ความคิดเขาอาจดีกว่าเราก็ได้ อย่าเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่”
ทีมเวิร์คเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม อิศราพงษ์คัดเลือกคนมาร่วมทีมทำงานโดยดูที่ความสามารถในงานด้านนั้นๆ เป็นหลัก สัดส่วนของคนที่เคยร่วมงานด้วยกันมาก่อนกับเพื่อนร่วมงานหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยฝีมือ คือ 50/50 คละเคล้ากันไปทั้งนักศึกษาปี 1-ปี 3
“คนที่เคยทำงานด้วยกันมาแล้วจะเห็นฝีมือ เห็นความสามารถ ทำผิดก็เข้าไปแนะนำหรือตักเตือนได้โดยไม่ผิดใจกัน มองตาก็รู้ใจ”
ส่วนทีมงานหน้าใหม่ก็ช่วยมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีม สร้างรูปแบบใหม่ๆ ให้กับการทำงาน อิศราพงษ์เชื่อคำกล่าวที่ว่า หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน คนไหนที่ไม่เวิร์ค ไม่เหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พูดง่ายๆ ว่าไม่มีใจให้กับการทำงาน ผ่านไปสักพัก เขาจะเดินจากไปเอง เพื่อเปิดทางให้คนที่อยากทำงานจริงๆ อยากมาลงเรือลำเดียวกัน
ให้อิศราพงษ์มองเข้ามาที่ตัวเองเพื่อวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน ผลที่ได้คือ จุดแข็ง ได้แก่ เป็นคนใจกว้าง รับฟังทุกความคิดเห็น วางแผนเก่ง รอบคอบ
ส่วนจุดอ่อน คือ พูดตะกุกตะกักไปบ้าง ไม่ปะติดปะต่อ ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร เขากลัวว่าข้อด้อยตรงนี้จะทำให้เพื่อนในทีมที่ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน อาจไม่ให้ความเชื่อมั่นในฝีมือ
ความท้าทายอย่างหนึ่งต่อจากนี้ของอิศราพงษ์คือ เสริมจุดแข็งและปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อน
ประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนเมื่อครั้งเป็นประธานชมรมรักษ์โลก เป็นข้อได้เปรียบของอิศราพงษ์ ในการรู้วิธีการติดต่อประสานงาน รู้บริบทของชุมชน มีเครือข่ายในการทำงานหลากหลายด้าน ทำให้หากมหาวิทยาลัยฯ ต้องการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนสามารถติดต่อประสานงาน และดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างราบรื่นได้
สิ่งแรกที่นายกองค์การฯ ใหม่หมาดอยากผลักดันให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยฯ คือการแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำกิจกรรม เพื่อเชื้อเชิญให้นักศึกษาหันมาทำกิจกรรมกันมากขึ้น ตอนนี้อิศราพงษ์ และทีมงานช่วยกันระดมสมองเพื่อแสวงหาวิธีจูงใจให้นักศึกษาหันมาทำกิจกรรมมากขึ้น เป็นงานที่ยากพอสมควร
อีกสิ่งหนึ่งคือ การจัดเตรียมพื้นที่ให้นักศึกษาได้มาทำกิจกรรมร่วมกันหลังว่างเว้นจากการเรียน อิศราพงษ์ได้เห็นตัวอย่างมหาวิทยาลัยแห่งอื่นที่มีการจัดเตรียมพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนไว้ให้นักศึกษาได้รวมตัวกันทำกิจกรรม รวมถึงมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้นักศึกษาอย่างเพียงพอ เช่น มีม้าหินอ่อนตามจุดสำคัญต่างๆ ทั่วมหาวิทยาลัยฯ ให้นักศึกษาได้ใช้งาน
ด้วยความจริงจังกับการทำงานแบบเกินร้อยของอิศราพงษ์ สิ่งที่เขาและทีมงานวาดหวังไว้คงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก รวมถึงคงมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นกับงานกิจกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายอย่างแน่นอน
Brief Biography
อิศราพงษ์ หน่อคำ เกิดวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 อายุ 22 ปี จบ ม.6 และ ม.3 จากโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จ.เชียงราย
ภาพ อธิพงศ์ วาณิชยานุเคราะห์ นักศึกษาปี 2 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (การสื่อสารสื่อใหม่) คณะวิทยาการจัดการ
ศิลปกรรม ฐิตาพร สิทธิ นักศึกษาปี 1 สาขาวิชาภาษาอังกฤษเฉพาะกิจ คณะมนุษยศาสตร์
THE IDOL บทสัมภาษณ์สร้างแรงบันดาลใจ ใช้ชีวิตด้วย Passion โดยกองพัฒนานักศึกษา และนักศึกษากลุ่มสื่อสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ที่ปรึกษา : ผศ.ดร. ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดี ผศ. สุทัศน์ คล้ายสุวรรณ์ รองอธิการบดี นิคม อัสสรัตนะสุขิน ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา บรรณาธิการบริหาร : พันธ์ศักดิ์ วรรณคำ บรรณาธิการศิลปกรรม : อนุรักษ์ แสนเขื่อน บรรณาธิการฝ่ายภาพ : สุกฤษติ์ ใจวงค์ ฝ่ายภาพ และศิลปกรรม : ฐิตาพร สิทธิ อธิพงศ์ วาณิชยานุเคราะห์ กวิน แดงโชติ ทวี คุณทุม อรรถวุฒิ ธิชาญ ณัฐวุฒิ บุญยอ จักรกฤษณ์ กองโส กรกนก แสงมณี แนะนำ ติชม หรือนำเสนอบุคคลเพื่อสัมภาษณ์ได้ที่ กองพัฒนานักศึกษา โทร. 053-776019 หรือ Inbox มาที่ Facebook https://www.facebook.com/publicrelations.snk